วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความคิดสร้างสรรค์

หากพูดถึง “ความคิดสร้างสรรค์” เชื่อว่าทักษะนี้ มีอยู่ในเด็กแทบทุกคน ถ้าถูกเลี้ยงให้ช่างคิด และไม่ถูกล็อกทางความคิดมาตั้งแต่ต้น ที่พูดเช่นนี้ ทีมงานกำลังจะสื่อให้เห็นว่า การที่ลูกมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณที่ดีนั้น ตัวแปรสำคัญอยู่ที่พ่อแม่ ว่าใช้หลักการเลี้ยงดูอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
สอดรับกับเมื่อหลายปีก่อน ได้มีการสำรวจทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็กโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พบว่า เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 มีทักษะความคิดสร้างสรรค์อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ จนน่าเป็นห่วงมาก
วันนี้ เพื่อให้ทุกครอบครัวเข้าใจหลักการเลี้ยงลูกให้คิดสร้างสรรค์อย่างได้ผล ทีมงาน Life and Family มีตัวช่วยจาก “ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธวงศ์” ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว) มาช่วยปลดล็อกวิธีเลี้ยงลูกแบบผิดๆ ให้เลี้ยงลูกแบบถูกทาง เพื่อนำไปปรับประยุกต์ เสริมทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ของลูกให้ได้ผลยิ่งขึ้น
กับเรื่องนี้ “ผศ.ดร.อุษณีย์” ให้มุมมองว่า ปัจจุบัน ความคิดสร้างสรรค์ได้กลายเป็นภาวะวิกฤตของสังคมไทยไปแล้ว เพราะเด็กส่วนใหญ่ชอบเลียนแบบมากกว่าที่จะคิดนอกกรอบ สิ่งเหล่านี้ เชื่อว่า เกิดจากความเคยชินในวิถีปฏิบัติที่พ่อแม่แต่ละยุคสมัยทำต่อๆ กันมา ซึ่งเป็นตัวครอบความคิดทั้งของตัวพ่อแม่ และตัวเด็กเอง เห็นได้จาก เมื่อลูกสงสัย หรืออยากทำในสิ่งนอกเหนือวิถีที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติ พ่อแม่บางคนมักพูดกับลูกว่า “นี่ อย่ามานอกคอกนะ” หรือ “ทำให้มันเหมือนๆ คนอื่นไม่เป็นบ้างหรือไง” เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อลูกสงสัย และอยากทำอะไร พ่อแม่ต้องลองเรียนรู้ร่วมกันกับลูกด้วย ซึ่งจะได้คำตอบ หรือไม่ได้ ค่อยมาคุย และหาทางออกกันใหม่ แต่ทั้งนี้ไม่ควรตัดโอกาสลูกด้วยคำพูดที่ทำให้ขาดความเชื่อมั่น จนไม่กล้าที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์ นั่นจะทำให้เด็กไม่ฉลาด และไม่กล้าแสดงออกในที่สุด
“การเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ ได้คิด ได้ลองทำ โดยไม่ถูกตีกรอบด้วยคำพูดที่บอกว่า อย่าทำนะ ห้ามนั่น ห้ามโน่น จะช่วยให้ลูกเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งการที่พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกได้ทดลอง ฉีกกรอบ หรือคิดอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น และร่วมเรียนรู้ หาคำตอบกับลูก ลูกก็จะคิดเป็น และสนุกที่จะเปิดสมองหาความรู้สู่การคิดที่สร้างสรรค์อย่างเต็มที่ต่อไป” ผศ.ดร.อุษณีย์ กล่าว
เห็นได้จากครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์ของไทยท่านหนึ่งที่ “ผศ.ดร.อุษณีย์” ยกตัวอย่างการสอนลูกให้ฟังว่า มีอยู่วันหนึ่ง ลูกเกิดไม่สบายขึ้นมา และอยากกินหอยแครงลวก คุณแม่จึงพาไปตลาด เพื่อไปซื้อหอยแครง จากนั้นคุณแม่ก็นำหอยไปแช่นำ และเอาเกลือมาโรย ในขณะที่ลูกก็เกิดความสงสัยจึงอธิบายให้ลูกฟังว่า เกลือจะทำให้หอยคายโคลนออกมา ลูกถามกลับว่า แล้วใช้อย่างอื่นไม่ได้หรือ ซึ่งตัวคุณแม่เองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่จะช่วยลูกหาคำตอบ
จึงเกิดการทดลองกันขึ้น โดยแม่พาลูกกลับไปตลาดอีกครั้ง เพื่อคัดซื้อหอยขนาดเดียวกันมาทดลอง เอาหอยแม่มาใส่โหลที่มีน้ำ จากนั้นลองนำน้ำตาล น้ำปลา เกลือ น้ำส้มสายชู ใบมะระขี้นกที่ปลูกในบริเวณบ้าน มาตำ แล้วใส่ในโหล ปรากฎว่า โหลที่ใส่ใบมะระขี้นกคายโคลนออกมามากที่สุด ซึ่งการทดลองกับแม่ ได้กลายเป็นโครงงานของลูก และได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่เพียงชั้นป.1 เท่านั้น
นี่คือตัวอย่างการสอนลูกอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการเลี้ยงลูก จะมีหลักอยู่ด้วยกัน 3 อย่างที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดสร้างสรรค์ และความเชื่อมั่นของลูก คือ การชมเชย การลงโทษ และการเพิกเฉย ซึ่งต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เช่น ชมเชยลูกได้ แต่อย่าชมอย่างฟุ่มเฟือยจนลูกเหลิง หรือขาดความมั่นใจไปเลย เพราะพ่อแม่บางคน ยังไม่ทันได้เห็นผลงานลูกเลย ก็ชมออกหน้าออกตา ทำให้ลูกไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำ ดีจริงหรือไม่ เนื่องจากเด็กบางคนรู้สึกได้ว่า สิ่งที่เขาทำยังทำได้ไม่ดีพอ แต่พ่อแม่กลับชมว่าดี
ดร.อุษณีย์ไขเทคนิคเลี้ยงลูก ให้ช่างคิดอย่าง ‘สร้างสรรค์’
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ในขณะที่บางบ้าน เอาแต่เคร่งครัดเรื่องวินัย กดดัน และลงโทษลูก แม้จะเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม อาจทำให้ลูกไม่กล้าคิด หรือแสดงความคิดเห็นอะไร เพราะกลัวว่าจะถูกดุ หรือถูกลงโทษ อีกทั้งยังรวมไปถึงบ้านที่วางเฉย ไม่สนใจลูก
วิธีเหล่านี้ พ่อแม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ ก่อนที่ลูกจะโตเป็นอนาคตของชาติที่ไม่มั่นใจในตัวเอง จนนำไปสู่การคิด และสร้างสรรค์ได้อย่างไม่เต็มที่ กลายเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม และคิดไม่เป็นในที่สุด แต่ถ้าพ่อแม่สามารถปลดล็อกได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก จะช่วยต่อยอดทางความคิดให้กับเด็กได้ดีทีเดียว
“ความคิดสร้างสรรค์มาจากการที่จะต้องแก้ปัญหา ถ้าไม่สอนให้ลูกมองเห็นปัญหา เด็กก็จะไม่มีวิธีคิดที่จะหาวิธีแก้ อย่างไรก็ดี ความคิดสร้างสรรค์ของลูกจะลดลงเมื่อต้องเข้าสู่รั้วโรงเรียน เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลายชั้น ดังนั้นทางเดียวที่จะทำให้ความสร้างสรรค์ของลูกคงที่ พ่อแม่ต้องช่วยลูก เวลาอยู่ที่บ้าน ควรใช้วิธีการสอนที่แปลกใหม่ ไม่สอนในแบบที่เคยทำกันมา
เช่น ให้ลูกเข้าครัวทำอาหารด้วยกัน โดยไม่ทำแบบที่เคยทำได้ไหม แต่ดัดแปลงให้เป็นอาหารจานใหม่ที่มาจากเมนูเดิมได้ไหม หรือเวลาจะเล่านิทานให้ลูกฟัง พอเล่าจบแล้ว ลองให้ลูกแต่งเรื่องใหม่ได้ไหม วิธีนี้จะช่วยได้เยอะ” ผศ.ดร.อุษณีย์แนะเคล็ด
นอกจากนี้ การที่จะให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีนั้น ตัวพ่อแม่เองจะต้องมีคลังคำศัพท์ที่มากพอสมควร ทั้งนี้เพื่อจะได้สอน และเพิ่มให้ลูกได้ใช้ในการผสมคำได้มากขึ้น วิธีการสอนง่ายๆ คือ ฝึกให้ลูกต่อคำจาก 1 คำให้ได้มากที่สุด เช่น นึกถึงคำว่าน้ำ เอามาประกอบเป็นคำอื่นๆ อะไรได้บ้าง ฝึกกับลูกบ่อยๆ และปล่อยให้ลูกคิดอย่างอิสระ และเป็นไปตามจินตนาการ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกคิดนอกกรอบได้ไม่น้อย
จะเห็นได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต่อยอด และพัฒนาความคิดของลูกได้ดี ซึ่งต้องเริ่มจากพ่อแม่ ที่มีส่วนช่วยกันสร้างความมั่นใจ ด้วยการพูดให้เกิดกำลังใจ และเลิกใช้คำพูดในเชิงคำสั่ง ขณะเดียวกันเมื่อลูกสงสัย ไม่ควรปล่อยค้างไว้ แต่ต้องร่วมกันหาคำตอบกับลูก สิ่งเบื้องต้นเหล่านี้ ถ้าพ่อแม่ปลดล็อกวิธีเดิมๆ ที่มักจะบอกลูกว่า “ใครๆ เขาก็ทำกันแบบนี้ จะสงสัยอะไร” หรือ “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ลูกก็จะไม่ถูกตีกรอบ และใช้ความคิดได้อย่างอิสระ กลายเป็นเด็กที่คิดสร้างสรรค์ และคิดเป็นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หาลูกค้าเรื่องง่ายๆ

การหาลูกค้าสำหรับตัวแทนใหม่นั้นอาจเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับตัวแทนรุ่นเก๋านั้น เป็นเรื่องง่ายเสมอ มาดูกันครับเทคนิคที่รุ่นพี่ทำกัน เป็นฝ่ายร...