วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลยุทธ์ 10 ประการในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา



ในหนังสือพ่อรวยสอนลูกมีตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “คนรวยเสียภาษีน้อย คนจนเสียภาษีมาก” ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้มีมูลความจริงเพราะว่าผู้ที่รู้จักการวางแผนภาษีก็คือ คนที่มีเงิน จึงสามารถหาทางที่จะลดภาระภาษีของตนเองลงได้ ในการลดภาระภาษีของตนเองลงนั้น ผู้อ่านสามารถทำได้โดยการซื้อหนังสือมาศึกษาหรือเข้าฟังอบรมและนำมาวางแผนภาษี แต่ผู้เขียนเห็นว่าการจ้างผู้เชี่ยวชาญทางภาษีเพื่อช่วยในการวางแผนภาษีให้จะเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะผู้มีเงินได้เพียงพอที่จะนำมาจ้างที่ปรึกษา

การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ผู้วางแผนภาษีจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าตนจะได้รับเงินได้ประเภทใดจากที่ไหนและจากผู้ใด อีกทั้งต้องรู้ว่าเงินได้แต่ละประเภทนั้น สามารถจะหักค่าใช้จ่าย ค่าหักลดหย่อน ในอัตราเท่าใด และหากจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องหักจากเงินได้ประเภทใดและอัตราเท่าใด บุคคลที่จะรู้จักการวางแผนภาษีอากรสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น อาจกล่าวโดยสรุปง่าย ๆ ผู้มีเงินได้ต้องรู้ว่า (1) ตนเองมีรายได้เท่าใด (2) เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ เท่าใด และ(3) รายได้ใดที่ต้องเสียภาษี หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในอัตราอย่างไร

แม้ว่ากฎหมายจะแบ่งประเภทเงินได้เป็น 8 ประเภท แต่หากจะแบ่งเป็นประเภทเงินได้เสียใหม่ อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ (1) เงินได้จากการทำงาน (2) เงินได้จากการประกอบธุรกิจ และ(3) เงินได้จากการลงทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเงินได้เหล่านั้น มีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากผู้อ่านจะใช้บทความนี้ในการศึกษาหรือเป็นข้อคิดเบื้องต้นในการวางแผนภาษีเงินได้ก็น่าจะไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด



กลยุทธ์การวางแผนภาษี
ก่อนที่ผู้เขียนจะได้อธิบายถึงกลยุทธ์การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการเฉพาะ ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านควรจะทราบถึงหลักทั่วไปของกลยุทธ์การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้เขียนแบ่งได้เป็น10 กลยุทธ์ด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1. การเลือกใช้เกณฑ์เงินสดและการเลื่อนเวลาการจ่ายเงิน

ภาระภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดานั้น กฎหมายกำหนดให้ใช้ “เกณฑ์เงินสด” ซึ่งต่างจากการเสียภาษีเงินได้ของบริษัทซึ่งใช้ “เกณฑ์สิทธิ” การใช้เกณฑ์เงินสดหมายความว่า ผู้เสียภาษียังไม่ต้องเสียภาษีหากยังไม่ได้รับเงินมาจริง ๆ ในบางกรณีบริษัทผู้จ่ายเงินสามารถนำเงินที่จะต้องจ่ายมาหักเป็นรายจ่ายได้เลยแม้จะยังไม่มีการจ่ายเงินจริงตามหลักเกณฑ์สิทธิ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจะต้องจ่ายเงินได้ ทำเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ถือหุ้น บริษัทสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เมื่อค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้นแล้วแม้จะยังไม่ได้มีการจ่ายจริง แต่ในขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นก็ยังไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าจะได้รับเงินนั้นมาจริง ๆ ตามหลักเกณฑ์เงินสด หรือกรณีมีที่ดินให้บริษัทเช่า (ซึ่งอาจเป็นบริษัทครอบครัว) บริษัทสามารถหักค่าใช้จ่ายค่าเช่าได้ แต่ผู้ให้เช่ายังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้หากยังไม่ได้รับค่าเช่า

กรณีศึกษา:
- กรณีผู้รับเงินรู้ว่า ตนเองจะมีรายได้ในปีนี้เกิดขึ้นเท่าใด และคาดว่าจะมีรายได้ในปีหน้าเท่าใด การวางแผนภาษีโดยเกณฑ์เงินสดก็คือ การเลื่อนกำหนดเวลาการรับเงินออกไป ก็จะสามารถลดภาระภาษีได้ เช่น แทนที่จะได้รับเงินได้ในสิ้นปีนี้เนื่องจากมีเงินได้เป็นจำนวนมาก ก็เลื่อนไปรับเงินในต้นปีถัดไป ซึ่งจะทำให้ภาระภาษีลดน้อยลงหากในปีถัดไปคาดว่าจะมีเงินได้น้อยกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของธุรกิจครอบครัวสามารถที่จะควบคุมการรับจ่ายเงินของตนเองได้ สามารถใช้เกณฑ์เงินสดในการวางแผนภาษีหรือกำหนดภาระภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือค่าจ้าง

- การใช้เกณฑ์เงินสดในการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพราะระยะเวลาการนำส่งมีความแตกต่างกัน เช่น หากผู้จ่ายเงินมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินได้ตามมาตรา 40(1) และ 40(2) เช่น ค่าจ้างแล้ว นายจ้างผู้จ่ายเงินก็มีหน้าที่ต้องนำส่งในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ในกรณีที่บริษัทนายจ้างต้องมีการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเงินโบนัสแก่พนักงานที่มีจำนวนมากมายหลายร้อยคน การเลื่อนกำหนดการจ่ายเงินออกไปเพียง 1 วัน สามารถช่วยให้ภาระการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย เลื่อนออกไปได้ เช่น บริษัทจ่ายเงินเดือนในวันที่ 31 มกราคม ภาระการนำส่งภาษี ณ ที่จ่าย คือ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ หากบริษัทเลื่อนการจ่ายเงินเดือนไปในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ บริษัทจะสามารถเลื่อนภาระการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกไปเป็นวันที่ 7 มีนาคม เท่ากับมีระยะเวลาที่ต่างกันเกือบ 40 วัน ถ้าหากเป็นเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรามาก บริษัทนายจ้างที่รู้หลักการวางแผนภาษี ก็สามารถนำเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนใช้ในกิจการอย่างอื่นได้ก่อน ซึ่งหากเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในอัตราสูง การรู้จักการบริหารการเงินย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง


2. กำหนดเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายการรู้ว่าเงินได้ประเภทใดได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมเสียภาษีจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ในการวางแผนภาษีของตนเองได้ แต่ผู้ที่มีเงินได้ควรต้องรู้ก่อนว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะกำหนดเงินได้ของตนเอง ให้เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี

เงินได้ที่ได้รับการยกเว้นนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประเภทตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ของประมวลรัษฎากร เงินได้ที่สำคัญที่กรรมการหรือเจ้าของกิจการหรือลูกจ้างจะสามารถประหยัด ไม่ต้องนำมารวมเพื่อเสียภาษี เช่น เงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยในการลงทุนของดอกเบี้ยสลากออกสิน การฝากประจำประเภทออมทรัพย์หรือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์มรดก หรือการขาย สังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้ได้มาโดยการมุ่งค้ากำไร หรือกำหนดเงินได้ให้เป็นการจัดอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากมรดกหรือการให้โดยเสน่หาตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมและประเพณีซึ่งจะต้องกำหนดให้ถูกต้องและเหมาะสม เงินได้จากส่วนแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ต้องเสียภาษีไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเงินได้ที่กำหนดให้ยกเว้นไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 126 อีกกว่า 78 ประเภท เช่น เงินได้จากการขายกองทุนรวม เงินประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้จากการประกันสังคม เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เงินได้จากธุรกิจการศึกษา เงินได้จากค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย ซึ่งเงินได้เหล่านี้เป็นเงินได้ที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งในการกำหนดและวางแผนเงินได้ที่ตนจะได้รับอยู่ในประเภทดังกล่าว นอกจากนี้ อาจจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้ตามกฎหมายอื่น ๆ ด้วย เช่น เงินได้ที่เป็นเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม พรบ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็นต้น

3. การเลือกใช้การหักค่าใช้จ่ายแบบหักเหมาตามประเภทเงินได้

ผู้มีเงินได้ต้องทราบว่าเงินได้ประเภทใด กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราใดตามกฎหมาย เช่น เงินได้ที่ได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ กฎหมายก็ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 11 นอกจากนี้ยังมีเงินได้ประเภทอื่น ๆ เช่น เงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เช่นกัน การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมานี้มีข้อดีคือ ผู้เสียภาษีไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่ามีรายจ่ายจริงเท่ากับอัตราเหมาที่กำหนดตามกฎหมายหรือไม่ แต่กฎหมายก็ให้หักเหมาได้แม้จะมากกว่ารายจ่ายจริงก็ตาม วิธีการนี้ก็จะช่วยให้ผู้มีเงินได้และประกอบธุรกิจ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการหักรายจ่ายเพราะคู่ค้าไม่มีเอกสารทางบัญชีมาหักเป็นรายได้จ่ายได้ตามกฎหมาย ก็อาจต้องพิจารณาเลือกองค์กรธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาแทนที่จะเป็นรูปบริษัท อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่ตัดสิทธิให้ผู้มีเงินได้ที่จะหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง หากสามารถแสดงหลักฐานทางบัญชีมาหักได้โดยความจริงแล้วอาจพิจารณาตั้งเป็นบริษัทก็จะดีกว่าเพราะอัตราภาษีเบื้องต้นอาจจะต่ำกว่า

4. การหักค่าลดหย่อนตามกฎหมาย
การหักค่าลดหย่อนตามกฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่ผู้วางแผนภาษีอากรควรต้องใช้ประโยชน์ให้สูงสุดในแง่ของการหักออกจากเงินได้และผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนดังกล่าว ปัจจุบันผู้มีเงินได้สามารถหักค่าลดหย่อน เช่น

- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) ซึ่งหักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
(แต่เฉพาะผู้มีเงินได้ในปี 2552 สามารถหักค่าซื้อ RMF และ LTF ได้ถึงกองทุนละ 700,000 บาท รวมสูงถึง 1,400,000 บาท เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลมุ่งให้การส่งเสริมเฉพาะกิจ)
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน หักเงินได้ 100,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันชีวิตหักได้ 100,000 บาท
- การหักค่าลดหย่อนจากเงินบริจาคเพื่อกุศลสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 615 แห่ง ซึ่งหักได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว นอกจากจะได้ทำบุญช่วยเหลือสังคมแล้ว บางครั้งการบริจาคเงินดังกล่าวอาจมีของตอบแทนเป็นพระเครื่องหรือของสะสมบางอย่างหรือรูปภาษีที่อาจมีมูลค่าในอนาคตได้หรือสิทธิส่วนลดในการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลชั้นดีของรัฐบาล การหักค่าลดหย่อนที่กล่าวมานั้น นอกจากผู้มีเงินได้จะประหยัดเงินภาษีในแต่ละปีภาษีแล้ว เมื่อได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคต เงินได้ดังกล่าวก็จะได้รับและที่ได้รับยกเว้นภาษีจากเงินดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน เช่น เมื่อได้รับเงินประกันชีวิตคืนเมื่อครบอายุ เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุน RMF และ LTF เมื่อครบกำหนดเงื่อนไขตามกฎหมาย

กรณีศึกษา:

ขอให้ลองเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ใช้ประโยชน์ทางภาษีจากการหักค่าลดหย่อนประเภทต่าง ๆ กับผู้ที่มิได้ใช้ประโยชน์โดยคำนวณจากรายรับประเภทเงินเดือน ท่านจะเห็นความแตกต่างจากตารางด้านล่างนี้



ท่านจะเห็นว่า ใน 1 ปี ท่านสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 276,000 บาท ท่านลองคิดดูว่าหากท่านสามารถประหยัดภาษีไปจนกระทั่งท่านเกษียณอายุ เช่น 20 ปี จะสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 5,520,000 บาท ซึ่งมิใช่เงินจำนวนน้อยเลยทีเดียว ทั้งนี้ ยังไม่รวมผลตอบแทนจากมูลค่าการลงทุนอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลงของมูลค่ากองทุนได้ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง จึงอาจลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ได้ ผู้สนใจควรปรึกษาที่ปรึกษาทางด้านการวางแผนการเงิน ซึ่งปัจจุบันได้มีสมาคมนักวางแผนทางการเงินได้จัดหลักสูตรอบรมนั้นแล้ว และมีธนาคารบางแห่งได้ให้บริการเช่นว่านี้

จากคอลัมน์ Tax Planning โดย กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ นิตยสาร M&W มีนาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หาลูกค้าเรื่องง่ายๆ

การหาลูกค้าสำหรับตัวแทนใหม่นั้นอาจเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับตัวแทนรุ่นเก๋านั้น เป็นเรื่องง่ายเสมอ มาดูกันครับเทคนิคที่รุ่นพี่ทำกัน เป็นฝ่ายร...