วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลยุทธ์ 10 ประการในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ตอนที่ 2)



5. การกำหนดแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ
การกำหนดแหล่งเงินได้ก็คือ กฎหมายไทยกำหนดให้เก็บภาษีทุกชนิดที่มีแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะจ่ายเงินได้ดังกล่าวในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ว่าผู้มีเงินได้จะอยู่ในประเทศใดก็ตาม เว้นแต่จะเข้ากรณียกเว้นตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มีแหล่งเงินได้นอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการได้จากการทำงาน เงินปันผลก็ดี ขายทรัพย์สินในต่างประเทศก็ดี หรือได้รับรางวัลจากการไปแสดงงานในต่างประเทศก็ดี กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ถ้าหากมีเงินได้ในต่างประเทศและเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (กล่าวคืออาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันในปีปฏิทิน) จะต้องเสียภาษีจากเงินได้ดังกล่าวก็ต่อเมื่อมีการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกับที่ต้องเสียภาษี

กรณีศึกษา:

1. ในปี 2551 ธงไชย ใจดี ได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันกอล์ฟในต่างประเทศ จำนวน 10,000,000 บาท ซึ่งโดยปกติธงไชยจะต้องเสียภาษีในประเทศที่ได้รับเงินได้นั้น สมมติว่าเสียในอัตรา 15% ของเงินได้ หากในปี 2551 ธงไชยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ธงไชยไม่ต้องนำเงินรางวัลนั้นมาเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยเลยไม่ว่าธงไชยจะนำเงินรางวัลเข้ามาในประเทศไทยในปีใดก็ตาม แต่หากในปี 2551 ธงไชยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป และนำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกันนั้น ธงไชยยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยอีกในอัตราก้าวหน้าสูงสุดถึง 37% ซึ่งรวมแล้วธงไชยจะต้องเสียภาษีสูงถึง 52%

แต่ในกรณีที่ประเทศที่ธงไชยได้รับเงินได้มีอายุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ธงไชยอาจได้รับสิทธินำภาษีที่เสียในต่างประเทศนั้นนำมาหักเป็นเครดิตภาษีได้ แต่ก็นับว่าภาระภาษีของธงไชยจากเงินรางวัลยังคงสูงอยู่ ดังนั้น ในกรณีนี้ธงไชยจึงไม่ควรนำเงินรางวัลที่ได้รับนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปี 2551 เพื่อที่จะได้ไม่มีภาระภาษีในประเทศไทย

2. กรณีนาย ก. ไปลงทุนในบริษัทในต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศในปี 2551 และบริษัทที่ต่างประเทศได้กำไรประกาศจ่ายเงินปันผลให้นาย ก. หากนาย ก. นำเงินปันผลเข้ามาในปี 2552 นาย ก. จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย แต่ถ้านำเข้ามาในปี 2551 นาย ก. ต้องเสียภาษี


6. เลือกเสียภาษีในอัตราต่ำสำหรับเงินได้บางประเภท

หลักการวางแผนที่สำคัญข้อหนึ่งที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ว่า “ที่ใดที่มีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ที่นั่นมีช่องทางในการวางแผนภาษีเสมอ” ด้วยเหตุที่กฎหมายกำหนดให้เงินได้หลายประเภทที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ไม่จำต้องถูกนำไปรวมกับเงินได้อื่น ๆ เพื่อเสียเงินได้ตามปกติ(ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป) ดังนั้น ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้าในอัตราสูง ๆ เช่น 20% - 37% จึงอาจกำหนดประเภทเงินได้ที่ได้รับ โดยสามารถเลือกเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าได้

เช่น เงินได้ที่ได้รับเป็นเงินปันผล กฎหมายให้สิทธิผู้มีเงินได้ที่จะเลือกเสียภาษีในอัตรา 10% เท่ากับภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย หรือจะเลือกนำเงินปันผลนั้นไปขอเครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการขอเครดิตภาษีเงินปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตราต่ำ

โดยหลักก็คือ ถ้าหากเงินได้ของผู้มีเงินได้ที่ได้รับนั้น มีรายได้ทุกชนิดรวมตลอดปีภาษีที่ได้รับนั้นต่ำกว่า 4 ล้านบาท แล้ว ผู้มีเงินได้ทุกคนจะขอคืนภาษีจากการเครดิตภาษีคืนเสมอ หรือกำหนดเงินได้ประเภทดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเกิดจากการลงทุนโดยการฝากเงินหรือซื้อหุ้นกู้ หรือการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ถือหุ้นและคิดดอกเบี้ยในอัตราตลาด ซึ่งในกรณีการให้กู้ยืมนี้นอกจากบริษัทจะหักดอกเบี้ยเป็นรายจ่ายได้แล้ว ผู้มีเงินได้ยังมีสิทธิเลือกเสียภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับในอัตรา 15% เท่ากับภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายโดยไม่จำเป็นที่จะต้องนำเงินได้นั้นไปรวมเพื่อเสียภาษี

ตามปกติผู้วางแผนจะได้ผลตอบแทน 2 ต่อ ก็คือ หักเป็นรายจ่ายของบริษัทได้และในฐานะเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นก็สามารถได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยซึ่งสูงกว่าอัตราเงินฝากในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานดังกล่าวจะต้องระวังไม่ให้การประกอบธุรกิจของกรรมการหรือผู้ถือหุ้นเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ของรายรับดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม

นอกจากนี้ ยังมีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้โดยมาทางมรดกหรือการให้โดยเสน่หาหรือได้มาโดยมิได้มุ่งค้าหากำไร หากยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ไม่ต้องนำไปรวมเงินได้หรือเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานซึ่งกฎหมายให้หักรายจ่ายได้สูง ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยไม่ต้องไปรวมเสียภาษีตอนปลายปี

กรณีศึกษา:

1. การเครดิตภาษีเงินปันผล
ข้อสมมติฐาน: นางสาวพรหล้ามีเงินเดือน เดือนละ 60,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เดือนละ 5,000 บาท และได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่เสียภาษีในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ เป็นเงิน 80,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 8,000 บาท



จากตัวอย่างข้างต้น หากนางสาวพรหล้าเลือกนำเงินปันผลไปขอเครดิตภาษีเงินปันผลจะได้รับคืนภาษี 18,428 บาท มีภาระภาษีที่ต้องเสียจริง 49,572 บาท และมีเงินสดคงเหลือ 750,428 บาท เปรียบเทียบกับกรณีที่เลือกเสียภาษีจากในอัตรา 10% โดยไม่ขอเครดิตภาษี มีภาระภาษีที่ต้องเสียจริง 66,000 บาท มีเงินสดคงเหลือ 734,000 บาท ดังนั้น บริษัทธุรกิจครอบครัวอาจวางแผนโดยจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ หรือบางคนก็กระจายหน่วบภาษี (ทั้งบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล) ในการกระจายสิทธิรับเงินปันผลเพื่อใช้สิทธิเครดิตเงินปันผลก็ย่อมทำได้


7. กำหนดประเภทเงินได้ที่ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

ผู้วางแผนภาษีควรกำหนดเงินได้ที่ได้รับนั้น ให้อยู่ในเงินได้ประเภทที่ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือถ้าหักก็หักในอัตราต่ำ เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ธุรกิจหรือผู้มีเงินได้ และไม่ต้องไปขอคืนภาษีซึ่งอาจจะถูกตรวจสอบภาษีได้

กรณีศึกษา:

1. การกำหนดความแตกต่างระหว่างสัญญาซื้อขายกับสัญญาจ้างทำของ ซึ่งถ้าหากเป็นสัญญาจ้างทำของต้องถูกหักภาษีในอัตรา 3% และยังมีภาระต้องติดอากรแสตมป์ด้วยในอัตรา 0.1% ของค่าจ้างทั้งหมดตามสัญญา แต่หากเป็นสัญญาซื้อขาย ค่าซื้อขายจะไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และสัญญาซื้อขายไม่ต้องติดอากรแสตมป์ การกำหนดทำสัญญาซื้อขายกับสัญญาจ้างนั้น เป็นการเปลี่ยนประเภทเงินได้จากเงินได้ซื้อขายกับค่าจ้างนั้นสามารถกระทำได้ ถ้าหากคู่สัญญาได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบ

2. กรณีที่การจ่ายค่าเช่ารถโดยมีคนขับกับทำสัญญารับค่าขนส่งคนโดยสาร ก็มีความแตกต่างของการหักภาษี ณ ที่จ่ายค่าเช่ารถต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% แต่กับค่าขนส่งหัก 1% รวมทั้งยังได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการกำหนดประเภทเงินได้ให้เหมาะสมและถูกต้องโดยการทำสัญญาและความเป็นจริงทางธุรกิจ


8. กำหนดผลประโยชน์ที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน
โดยปกติผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นแม้จะไม่ใช่ตัวเงินที่ผู้มีเงินได้ได้รับมากโดยตรงแต่ตามหลักถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น การให้สวัสดิการแก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล เครื่องแบบพนักงาน หรือการจัดงานปีใหม่ การจัดรถรับส่งพนักงาน การจัดรถผู้บริหาร หรือการให้ส่วนลดแก่พนักงาน การให้ทุนหรือแม้แต่การให้หุ้นแก่พนักงาน เป็นต้น แต่ในบางครั้งการกำหนดผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินอาจเข้าลักษณะที่เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ เช่น เครื่องแบบไม่เกิน 2 ชุด ต่อปี เบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลของลูกจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ เป็นต้น ซึ่งการให้สิ่งเหล่านี้ต้องไปพิจารณาว่าประเภทใดที่ต้องเป็นเงินได้ ประเภทใดเป็นเงินได้ทีได้รับยกเว้น ประเภทใดเป็นเงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และที่สำคัญที่สุดเมื่อบริษัทจ่ายไปแล้วควรต้องหักเป็นรายจ่ายได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ควรต้องให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายด้วย


9. การตั้งหน่วยภาษีขึ้นใหม่

เนื่องจากการประหยัดภาษีนั้น ผู้เสียภาษีก็ต้องคำนวณว่าตนเองมีรายได้เท่าใด มีรายจ่ายเท่าใด อัตราภาษีเท่าใด การพิจารณาตั้งหน่วยภาษีใหม่ไม่ว่าจะเป็นในฐานะคณะบุคคลหรือบริษัทก็อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งซึ่งใช้ในการวางแผนภาษี เนื่องจากการที่กระจายหน่วยภาษีหลาย ๆ หน่วยนั้น ย่อมเป็นการกระจายภาระภาษีเงินได้และจะทำให้เสียภาษีในอัตราต่ำ นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้อาจจะแก้ปัญหาเรื่องของการจัดทำเอกสาร ใบเสร็จรับเงินต่าง ๆ ที่บริษัทไม่สามารถทำธุรกิจกับผู้ค้าบางอย่าง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มีรายได้มากในขณะเดียวกันก็มีรายจ่ายที่สูงพอสมควร การพิจารณาจัดตั้งบริษัทให้เป็นหน่วยภาษีและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็จะมีประโยชน์เช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือ ต้องระมัดระวังว่า การตั้งคณะบุคคลหรือการกระจายหน่วยภาษีจะต้องเป็นไปตามหลักนิติกรรมสัญญา มีความแท้จริงมีสาระสำคัญกว่ารูปแบบ (Substance over the Form) ไม่ใช่เพียงแค่จัดตั้งคณะบุคคลอย่างเดียว หากเป็นเงินได้จากการบริการก็ต้องมีการให้บริการอย่างแท้จริง และมีหลักฐานสนับสนุนที่สามารถพิสูจน์ถึงการให้บริการหรือการลงทุนได้

กรณีศึกษา:

หลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการในรูปแบบบริษัทให้ความสำคัญเนื่องจากหากปราศจากสิ่งดังกล่าว อาจส่งผลให้บริษัทไม่สามารถนำรายจ่ายนั้นมาหักในการคำนวณภาษีได้ ทำให้เสียภาษีเพิ่มเติมทั้ง ๆ ที่เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทและมีการจ่ายเงินออกไปจริง ผู้เสียภาษีจึงอาจพิจารณาจัดตั้งหน่วยคณะบุคคล หรือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ แล้วให้คณะบุคคลเป็นผู้ซื้อสินค้าจากคู่ค้าที่ไม่มีหลักฐานการรับเงิน และนำสินค้ามาขายต่อให้กับบริษัทในอัตรากำไรที่มีความเหมาะสม โดยมีการออกใบเสร็จให้ถูกต้อง แม้ว่าคณะบุคคลจะไม่มีใบเสร็จจากคู่ค้า แต่คณะบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาได้ตามกฎหมาย แต่การมีคณะบุคคลหลายคณะบุคคลมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาว่า คณะบุคคลดังกล่าวเป็นหน่วยภาษีจริงหรือตั้งเพื่อหนีภาษี ดังนั้น หลักสาระสำคัญกว่ารูปแบบ (Substance over the Form) ในการวางแผนภาษีอากรจึงมีความสำคัญ


10. ภาษีแต่งงาน กรณีมีคู่สมรส ให้แยกยื่น
ต้องยอมรับว่าประมวลรัษฎากรของไทยนั้น กำหนดเงินได้ให้นำเงินได้ไปรวมหรือแยกเพื่อเสียภาษีสำหรับคู่สมรส หากเป็นเงินได้ 40 (1) และ (2) โดยการรวมหรือแยกยื่นนั้น ภาระภาษีก็จะต่างกัน ผู้เขียนคิดว่า ถ้าคู่สมรสมีเงินได้หลายประเภท การยื่นเสียภาษีเงินได้จากการเป็นคู่สมรส ก็ควรจะแยกยื่นจะดีกว่า เพราะสามารถหักค่าลดหย่อน หักค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ในกรณีที่ภรรยามีรายได้อย่างอื่นนอกจากเงินได้จากมาตรา 40 (1) (2) เช่น มีเงินได้จากการให้บริการ เป็นเงินได้จากการแสดงภาพยนตร์ เป็นเงินได้จากการลงทุนอื่น ๆ แล้ว กฎหมายให้นำเงินได้ประเภทอื่น ๆ นำมารวมเป็นเงินได้ของสามีเพิ่มเติม ดังนั้น ถ้าหากสามีต้องเสียภาษีในอัตราสูงอยู่แล้ว การนำเงินได้ของภรรยามารวม ก็จะทำให้เงินได้นั้นอยู่ในอัตราสูง ไม่ว่าจะแยกหรือรวมยื่นอีกต่อไป ดังนั้น หากภรรยามีเงินได้สูงกว่าสามีก็มีเป็นจำนวนมาก ตามกฎหมายจึงไม่สามารถลดภาระภาษีได้ เว้นแต่ว่าภรรยาและสามีนั้นจะสามารถโอนเงินได้เข้าเป็นรูปของนิติบุคคลหรือบริษัทซึ่งจะทำให้ภาระภาษีลดน้อยลงได้ ถ้าหากเปรียบเทียบกรณีศึกษา ก็จะดูได้ว่า ยกตัวอย่างเช่นมีถ้าหากมีภรรยาเป็นดารา ถ้ารู้จักการวางแผนภาษีก็สามารถนำไปนำไปหักภาษีลงไปได้ และภาษีเงินได้ของภรรยาก็ไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้อย่างอื่น ทำให้ในอัตราสูงมาก ก็อาจเลือกการตั้งบริษัทเป็นหน่วยภาษีรับรายได้แทน


บทสรุป

กลยุทธ์ 10 ประการเบื้องต้นนั้น เพื่อใช้เป็นข้อคิดเบื้องต้นสำหรับผู้อ่านที่จะนำไปต่อยอด ผู้เขียนมีความเห็นว่าหากผู้อ่านมีโอกาสได้ศึกษาถึงรายละเอียดของละเรื่องก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวผู้อ่านเองในการวางแผนภาษีทางธุรกิจต่อไป โดยผู้อ่านควรหาหนังสือเกี่ยวกับการวางแผนภาษีอากรมาอ่าน
(ซึ่งปัจจุบันมีมากหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือเล่มใหม่ที่ผู้เขียนกำลังปรับปรุงและจัดพิมพ์อยู่) เพื่อพัฒนา
องค์ความรู้ให้ดีต่อไป การวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับการวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก และผู้มีเงินได้ต้องให้ความสนใจ

จากคอลัมน์ Tax Planning โดย กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ นิตยสาร M&W เมษายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หาลูกค้าเรื่องง่ายๆ

การหาลูกค้าสำหรับตัวแทนใหม่นั้นอาจเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับตัวแทนรุ่นเก๋านั้น เป็นเรื่องง่ายเสมอ มาดูกันครับเทคนิคที่รุ่นพี่ทำกัน เป็นฝ่ายร...